ถามตอบ เกร็ดน่ารู้ที่ควรทราบ เกี่ยวกับการ เสริมจมูกด้วยซิลิโคนแท่ง
เริ่มด้วย ต้องทราบความต้องการของตัวเองก่อนว่าจุดเริ่ม ที่ทำให้คุณอยากจะเสริมจมูก เพราะอะไร ?
คงไม่ใช่ว่า เห็นคนอื่นทำแล้วดูดี เลยอยากทำบ้าง เพราะโครงหน้าแต่ละคนไม่มีทางที่จะเหมือนกัน หรือทำเลียนแบบกันแล้วได้ผลที่ดูดีเสมอไป แต่การที่หน้าของคุณจะดูดีขึ้น ในมุมมองของคนส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ว่าฉันชอบของฉัน แต่ทำไมเป็นตัวประหลาดในสายตาของคนอื่น) ควรจะประกอบด้วย
1. มีความสมดุลย์สำหรับทุกส่วนบนใบหน้า ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดของแพทย์ หากแพทย์ช่วยให้ความรู้กับผู้ที่มาเสริมบ้าง ก็ไม่ได้ยากเกินไปที่จะรับทราบ แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเพื่อให้ได้สัดส่วนตามทฤษฏีทั้งหมด รู้ไว้เพื่อทราบดังนี้
2. มีความเข้าใจโครงหน้ารวมของตัวเอง และทราบข้อจำกัด ยกตัวอย่าง เช่น มีหน้าผากที่แบน อยากได้ดั้งจมูกสูง ๆ อาจทำให้รอยต่อหน้าผากกับดั้งจมูกที่ควรจะเว้าเล็กน้อย เพื่อให้ดูสวยเป็นธรรมชาติหายไป โครงหน้ากว้าง ๆ แบบชาวเอเชียทั่วไป ซึ่งพบได้ทั่วไป แต่อยากได้ดั้งเล็ก ๆ แคบ ๆ ผอม ๆ เหมือนดาราที่โครงหน้าแคบ ๆ เอามาเป็นแบบ พอได้ตามแบบมาอยู่บนหน้ากว้าง ๆ จะดูแปลก
สำคัญมากอีกข้อคือ มีผิวหนังบาง อยากได้โด่งมากๆ ก็เสี่ยงต่อการทะลุ หรือจับผิวหนังก็ยังดูเหลือ น่าจะใส่เพิ่มได้อีก ลองนึกถึงถุงบาง ๆ ยัดของเข้าไปมาก ๆ ต่อให้ถุงไม่ขาดก็ตามที แต่ขอบสันของ ของที่ใส่อยู่ในถุงก็ดันเนื้อออกมา คือ เห็นเป็นขอบสันของซิลิโคน
เมื่อทราบจุดบกพร่องของโครงสร้างเดิมแล้ว ก็มา”เติมเต็ม” ส่วนที่ขาดหายไป ย้ำไว้ว่าไม่ใช่ใส่จนล้น จมูกที่เสริมเกินสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้ดูเด่นก็จริง แต่จะเป็นในทางลบมากกว่า
เริ่มจากการปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ถึงรายละเอียดที่คุณต้องการ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ๆ ปัญหาหลายเรื่องเริ่มที่ตรงนี้ คือ ขาดการสื่อสารให้เข้าใจกัน เพราะเรื่องความสวยงามเป็นเรื่องของมุมมอง มีความคิดแตกต่างกันได้ และสามารถเลือกได้หลากหลายแบบ ไม่ใช่กฏกติกาตายตัว เลือกแพทย์ที่เข้าใจสิ่งที่คุณต้องการ และสามารถให้การดูแลหลังทำได้ เพราะ
ซิลิโคนยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด สำหรับการเพิ่มความโด่งของจมูก เนื่องจาก
1. เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงมีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาเรื่องการดันผิวหนังจนทะลุได้ โดยเฉพาะส่วนปลายสุดของจมูก หรือแผลด้านในรูจมูก
ป้องกันด้วยการเลือกรูปทรงให้พอเหมาะกับผิวหนัง เหลาซิลิโคนให้มีความสมมาตร และพอดีกับฐานกระดูกจมูก และการที่จะผ่อนปัญหาที่พร้อมจะหนักให้เป็นเบาได้ คือ ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเป็นระยะ หรือรีบพบแพทย์เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น เห็นขอบซิลิโคนเด่นมากขึ้น เป็นต้น
หากปล่อยจนผิวหนังบางมาก หรือทะลุแล้ว จะสูญเสียสภาพที่ดีของรูปทรงปลายจมูก หรือเกิดแผลเป็น หรือแผลหดรั้ง บางรายแผลรั้งจนจมูกเชิด แก้ไขซับซ้อน และคาดหวังผลหลังการแก้ไขลำบาก
2. เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ป้องกันด้วยเทคนิกการทำความสะอาดของทางการแพทย์ นอกจากนั้นการดูแลผิวหนังโดยรอบบริเวณที่จะทำการผ่าตัด หรือด้านในรูจมูก ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณแผลผ่าตัด
หากเกิดการติดเชื้อในโพรงที่ใส่ซิลิโคน ควรรีบเอาซิลิโคนออก แล้วรอให้ร่างกายเก็บขยะทำความสะอาดโพรงที่ใส่ซิลิโคนเรียบร้อยก่อน อย่างน้อยสามเดือนหรือหนึ่งปีขึ้นไป จึงจะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อใส่ซิลิโคนใหม่
การพยายามรั้งรอ ไม่อยากถอดออก แล้วไม่ไปพบแพทย์เพราะกลัวว่าแพทย์จะให้เอาซิลิโคนออก เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีทางที่การติดเชื้อจะหายไปได้เมื่อยังมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ จากปัญหาที่แก้ไขได้ง่ายแค่นำซิลิโคนออก อาจจะกลายเป็นการทะลุตามมา เพราะเนื้อเยื่อ พึงสังวรณ์ รีบเอาออก จะได้เริ่มนับเวลาใหม่ เพื่อใส่อันใหม่ดีกว่า
3. เกิดการเอียงได้ ไม่ว่าจะเป็นจากโครงสร้างที่มีฐานจมูกที่เอียงมาก่อน หรือเกิดจากการเหลาที่ไม่สมมาตรของแพทย์ หรือการใส่ซิลิโคนในลักษณะที่ฝืนเนื้อเยื่อมาก เป็นต้น การดูแลติดตามผลหลังทำ จึงมีความจำเป็น หากวินิจฉัยได้แน่นอนแล้วว่าเอียง การแก้ไขในระยะแรกจะทำได้ง่ายกว่า
ทั้งหมดทั้งปวง เป็นผลที่สามารถป้องกันที่เหตุได้ ถ้าแพทย์และผู้มารับการเสริมซิลิโคน มีความระมัดระวังอยู่ก่อน โอกาสที่จะเกิดผลเสียต่างๆก็เกิดน้อยลง หรือถ้าเกิดผลข้างเคียง จะเป็นผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แก้ไขได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ไม่มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซนต์ การรู้ก่อนที่จะทำ เพื่อนำข้อมูลไปไตร่ตรอง เพราะเรื่องสวยงามไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ทำเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อตัดสินใจทำแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้น จะได้มีสติ ไม่ใช่มัวแต่ฟูมฟายว่า รู้อย่างนี้ไม่ทำดีกว่า แต่คุณควรทราบก่อนทำ หากคิดว่าไม่สามารถตั้งรับกับผลข้างเคียงได้ ก็ไม่ควรทำ เมื่อไม่ทำคือ ไม่เกิดผลข้างเคียง
เหตุที่ซิลิโคนแท่ง ยังคงเป็นที่นิยมนำมาเสริมจมูกจนถึงปัจจุบันเพราะ ?
1. ไม่ต้องทำผ่าตัดหลายตำแหน่ง ตัดปัญหาที่จะเกิดผลข้างเคียงกับการนำเอากระดูกส่วนอื่นมาใช้
2. สามารถควบคุมรูปทรงได้ง่าย ด้วยการตกแต่งเหลารายละเอียดตามที่ต้องการ เวลาที่ผ่านไปซิลิโคนยังคงรูปทรงเดิม
3. ถ้าไม่มีปัญหา สามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิต โดยซิลิโคนจะแยกกับเนื้อเยื่อร่างกาย โดยร่างกายสร้างเยื่อพังผืดเหมือนเป็นแคบซูลมาหุ้มรอบซิลิโคน หากต้องการนำเอาซิลิโคนออกสามารถเอาออกมาได้ทั้งหมด
4. แพทย์มีความคุ้นเคยกับการใช้ซิลิโคนแท่งมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ภาพรวมของการทำผ่าตัด ค่อนข้างง่ายไม่ซับซ้อน และเมื่อเกิดปัญหา มีทางออกให้ได้
การผ่าตัดเสริมจมูกด้วยซิลิโคนแท่ง ส่วนใหญ่สามารถทำด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ หลังผ่าตัดสามารถกลับไปดูแลที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้างที่โรงพยาบาล ในรายที่มีการใช้ยากดระบบประสาทเพื่อให้เคลิ้มหลับระหว่างผ่าตัด อาจต้องพักดูอาการหลังทำก่อนที่จะให้กลับบ้าน
การดูแลหลังเสริมจมูก ควรนั่งศีรษะอยู่ระดับสูง เพื่อลดอาการบวม ประคบเย็นจะช่วยให้เลือดที่ซึมในโพรงที่มีซิลิโคนอยู่ออกน้อยลง และทำให้ปฏิกิริยาการอักเสบหลังการผ่าตัดเกิดน้อย การประคบควรทำต่อเนื่องจนกว่าจะยุบบวม ในรายที่มีร่องรอยเขียวช้ำ สามารถประคบอุ่น เพื่อให้เลือดที่คั่งค้างอยู่กระจายหายได้เร็วขึ้น
ควรทำความสะอาดในโพรงจมูกด้วยน้ำสบู่ที่อาบน้ำล้างหน้า และล้างหน้าตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรคในบริเวณผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง
อย่าลืมพบแพทย์ตามนัด ถ้าแพทย์ลืมนัด ก็ควรถามว่าจะให้มาตรวจอย่างไรบ้าง แพทย์ส่วนใหญ่ชอบที่จะติดตามผลงานที่ตัวเองทำไว้ รายละเอียดต่าง ๆ ของรูปทรงจมูก จะเข้าที่ครบใช้เวลาหลายเดือนถึงปี ดังนั้นบางส่วนต้องให้เวลากับร่างกายในการปรับสภาพเยื่อพังผืดที่หุ้มอยู่โดยรอบซิลิโคน ยกตัวอย่าง ผิวหนังส่วนใดของจมูกที่มีความหนา จะใช้เวลาในการหดรัดรูปช้ากว่าผิวหนังบริเวณที่บาง เป็นต้น
การที่แพทย์ได้เห็นผลในระยะยาว นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่รับการเสริมจมูกไปแล้ว ยังเป็นการช่วยให้แพทย์ได้ประเมินผลงานที่ทำไป และสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาผลงานให้ดีมากยิ่งขึ้น
โดยรวมก็เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรจะทราบเบื้องต้น หากมีคำถามเพิ่มเติมอย่างไร สามารถสอบถามจากแพทย์ที่คุณจะไปรับการผ่าตัดได้ แพทย์แต่ละท่านอาจจะมีความแตกต่างกันในการให้ข้อมูล ในการเลือกวิธีผ่าตัด และแตกต่างในรายละเอียดของการดูแลอยู่บ้าง เมื่อวางใจให้แพทย์ท่านใดทำผ่าตัดให้แล้ว ก็ควรจะรับฟัง และปฏิบัติตามแนวทางของแพทย์ท่านนั้น ๆ อย่าสับสนหรือรับข้อมูลหลายด้านที่ขัดแย้งจนงง เพราะทุกแนวทางย่อมต้องมีเหตุผลทางการแพทย์รองรับอยู่
แพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดให้จะมีข้อมูลการตรวจของคุณตั้งแต่ก่อนทำ รู้รายละเอียดระหว่างทำมากกว่าแพทย์ท่านอื่น และทราบผลหลังทำ จึงควรที่จะไปพบเพื่อดูแลผลต่อเนื่อง เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตาม ควรกลับไปพบแพทย์ที่ทำให้ก่อน เพราะจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำตอบ คำแนะนำเบื้องต้นได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหาซับซ้อนและไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย สามารถที่จะขอความเห็นเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่นได้เช่นกัน